ประวัติสาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์

ในปี พ.ศ. 2518-2530 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มีชื่อเรียกเดิมว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี 2531-2547 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล นครราชสีมา และมีคณะศึกษาทั่วไป ซึ่งมีแผนกวิชาคณิตศาสตร์ โดยมี 1. อาจารย์ กนกวรรณ พันจิตต์ และ 2. ผศ. บังอร วินิจนัยภาค เป็นหัวหน้าแผนกตามลำดับ ต่อมาในปีพ.ศ.2548-ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา และมีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ โดยมี 1. ผศ. บังอร วินิจนัยภาค 2. อาจารย์ อิสเรส อิสระสุข 3. ผศ.ดร. พรทิพย์ ป้องชาลี 4. ผศ.ดร. ณรงค์ศักดิ์ โยธา 5. ดร.ธรรมรัตน์ กลีบเมฆเป็นหัวหน้าสาขาตามลำดับ ปัจจุบันสาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ตึก 34 ชั้น 6 โดยมีห้องพักอาจารย์อยู่ 3 ห้องคือ ห้อง 603, 610 และห้อง 611 ปัจจุบันมีอาจารย์ประจำสาขาทั้งหมด 17 ท่านซึ่งเป็นอาจารย์ทางคณิตศาสตร์ 11 ท่านและเป็นอาจารย์ทางสถิติอีก 6 ท่าน ภารกิจหลักของสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ ได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการแก่ชุมชนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบัน สาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์เปิดสอน 1 หลักสูตร คือ ระดับปริญญาตรี หลักสูตร วิทยาศาสตร์บัณฑิต (สถิติประยุกต์)

ปณิธานของสาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์

สาขาคณิตศาตร์และสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคจัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคอีสานให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวมมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้สำหรับบัณฑิตนักปฏิบัติ ตามหลักแห่งเสรีภาพทางวิชาการ โดยยึดมั่นในสัจธรรมและคุณธรรม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและการเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ การประยุกต์ เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พึงฝักใฝ่ในการฝึกฝนตน เป็นผู้รู้จริง คิดเป็น ปฏิบัติได้ สามารถครองตน ครองคน ครองงาน ด้วยมโนธรรมและจิตสำนึกต่อสังคม

ปรัชญาของภาควิชาคณิตศาสตร์

คณิตศาสตร์และสถิติเป็นรากฐานสำคัญทางวิทยาศาสตร์ และ สาขาอื่น ๆ ดำเนินไปบนพื้นฐานของการแสวงหาความจริงอย่างมีระบบ และ มีเหตุมีผล ผ่านกระบวนการทางความคิด ค้นคว้าและวิจัย เพื่อนำมาซึ่งองค์ความรู้ และ ทฤษฎีใหม่ ๆ ทางคณิตศาสตร์และสถิติ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ในฐานะองค์กรการศึกษา จักต้องใช้องค์ความรู้ทั้งที่มีอยู่แล้วและพึงแสวงหาใหม่ เพื่อเพิ่มพูนและเสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการด้านคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไปผลิตนักคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพ ทั้งด้านความรู้ จริยธรรม และคุณธรรม มีการวิจัยทางคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพในระดับสากล มีการบริหารจัดการที่ดี

วิสัยทัศน์ (พ.ศ. 2558-2563)

สาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์เป็นแหล่งผลิตนักคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ที่มีคุณภาพ ทั้งด้านความรู้ จริยธรรม คุณธรรม และเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ มีการวิจัยทางคณิตศาสตร์ที่มีคุณภาพในระดับประเทศและระดับสากล มีการบริหารจัดการที่ดี

พันธกิจ

  1. จัดการเรียนการสอนทระดับปริญญาตรีให้แก่นักศึกษาทั้งภายในและภายนอกคณะ โดยมุ่งเน้นคุณภาพตามมาตรฐานสากล
  2. ดำเนินการวิจัยทางคณิตศาสตร์และสถิติ ทั้งการวิจัยพื้นฐานและ ประยุกต์ในสาขาต่างๆ ที่มีคุณภาพระดับชาติและระดับนานาชาติ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  3. ให้บริการวิชาการแก่ชุมชนอย่างมีคุณภาพ สามารถตอบสนองความต้องการพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสานและประเทศ
  4. มีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นภาคอีสาน และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
  5. บริหารและจัดการตามหลักธรรมาภิบาล พึ่งพาตนเองโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีความรู้และทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติ ทัดเทียมกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศและต่างประเทศ สามารถนำไปประยุกต์ในการทำงานและการศึกษาต่อ เป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
  2. เพื่อผลิตงานวิจัยที่ได้มาตรฐานในระดับชาติและระดับสากล มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  3. เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นภาคอีสานและประเทศได้รับการบริการทางวิชาการที่มีคุณภาพ จากศักยภาพของทรัพยากรบุคคลและผลงานวิชาการของสาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์
  4. เพื่อการมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นภาคอีสาน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นภาคอีสานและประเทศ
  5. เพื่อให้สาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์มีระบบบริหารงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการตามแนวทางของคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
  6. เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรและรายได้สนับสนุนการบริหารจัดการในทุกด้านอย่างเหมาะสม พอเพียง

วัตถุประสงค์ นโยบายการบริหารและพัฒนาสาขาคณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์ (พ.ศ. 2558 – 2564)

1. นโยบายด้านการเรียนการสอน

  • พัฒนาการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับของสังคม สนองความต้องการของประเทศด้านครูคณิตศาสตร์
  • สร้างความร่วมมือกับต่างคณะในการพัฒนาหลักสูตรร่วมที่มีคุณลักษณะที่สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นได้ และสามารถดึงดูดนักเรียน นักศึกษาที่มีสติปัญญาดีเข้ามาศึกษา
  • พัฒนากระบวนวิชาให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของเจ้าของหลักสูตร
  • มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตร

2. นโยบายด้านการวิจัย

  • กำหนดทิศทางการวิจัยให้สอดคล้องกับทิศทางการวิจัยของคณะและมหาวิทยาลัย
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยของคณาจารย์ ทั้งทางด้านพื้นฐาน การประยุกต์ และการบูรณาการ
  • สนับสนุนวัสดุ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ที่ทันสมัยสำหรับการวิจัย
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการหาแหล่งทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง
  • แสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานภายนอก และสถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3. นโยบายด้านการบริการวิชาการ

  • กำหนดให้มีการดำเนินการบริการทางวิชาการ เพื่อสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและของประเทศ
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์และบุคลากรได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศ

4. นโยบายด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

  • ส่งเสริมให้คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ร่วมกันทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น
  • ส่งเสริมและปลูกฝังให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี

5. นโยบายด้านการบริหาร

  • มีการจัดทำแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม มีขั้นตอนที่สามารถตรวจสอบได้
  • ให้คณาจารย์และบุคลากรมีส่วนร่วมในการบริหารงานอย่างทั่วถึง
  • พัฒนาระบบการทำงานของบุลากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการบริหารงาน ให้เกิดความคล่องตัว และการประหยัดงบประมาณ
  • มีการประเมินการบริหารงานของภาควิชา
  • มีการประสานงานกับศิษย์เก่า เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับศิษย์ปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง